วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การบริหารเฉพาะส่วนช่วยละลายไขมันบริเวณนั้น ๆ ได้จริงหรือ?

คำถามนี้ถามกันมาบ่อยมาก ๆ ครับ ใน คลับลดความอ้วน เรียกได้ว่าต้องตอบกันแทบทุก ๆ สัปดาห์เลยแหละครับ ไม่ว่าจะเป็น ซิทอัพ ,จาน Twist, หรือแม้แต่กระทั่งห่วงฮุล่าฮูป ฯลฯ สามารถลดไขมันเฉพาะส่วนได้จริงหรือ?
คำตอบ คือ ไม่จริงนะ
สาเหตุหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การซิทอัพ หรือการออกกำลังด้วยท่าใดท่าหนึ่งโดยเฉพาะ โดยเน้นไปที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สามารถลดไขมันเฉพาะส่วนนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าการโฆษณาของสินค้าอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้บริหารเฉพาะส่วน ซึ่งมักจะใช้นายแบบ และ นางแบบหุ่นดี ๆ มาเป็นแบบในการถ่ายทำ และกล่าวอ้างถึงสรรพคุณของการบริหารเฉพาะส่วนว่าสามารถช่วยลดไขมันเฉพาะส่วนได้
ได้ผลครับ คนส่วนใหญ่เชื่อเช่นนั้นจริง ๆ สำหรับประเด็นดังกล่าวนักสรีระวิทยา ชื่อว่า Frank Katch และพวกพ้อง แห่ง University of Massachusetts in Amherst ได้ทำการลดลองชิ้นหนึ่งขึ้นมา
โดยก่อนการทดลองมีการวัดอัตราส่วนไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของกลุ่มทดลอง ซึ่งคือนักเรียน 19 คน หลังจากนั้นให้กลุ่มทดลอง ทำการ ซิทอัพ ทั้งสิ้น 5,004 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 27 วัน
เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง ผลการทดลองให้ผลว่า ไขมันบริเวณหน้าท้องลดลงจริง แต่ไขมันบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายก็ลดลงในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กันกับบริเวณหน้าท้อง
การทดลองสรุปว่า มนุษย์เราไม่สามารถที่จะออกกำลังด้วยท่าใดท่าหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อลดไขมันเฉพาะส่วนได้ เวลาร่างกายเผาผลาญไขมัน ร่างกายจะดึงไขมันจากทุกส่วนของร่างกายมาเป็นพลังงาน จะดึงมาจากส่วนไหน มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุกรรม
จริงอยู่บางท่านที่ออกกำลังกายด้วยการออกกำลังกายเฉพาะส่วนแล้วรู้สึกว่าสัดส่วนลดลง แต่ก็มองข้ามไปว่าไขมันบริเวณอื่นๆ ก็ลดลงในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน
ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าการบริหารร่างกายเฉพาะส่วนไม่ดีนะครับ เพียงแต่ทุกครั้งที่ท่านบริหารร่างกายเฉพาะส่วน ให้คิดอยู่เสมอว่าท่านกำลังบริหารกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังและไขมันลงไป ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวกระชับและได้สัดส่วนมากขึ้น และเมื่อไขมันที่ปกคลุมอยู่หายไป รูปร่างของท่านก็จะสวยงามขึ้น
ดังนั้นแล้วท่านไม่จำเป็นจะต้องหักโหมกับการบริหารร่างกายเฉพาะส่วนมากนักก็ได้ เช่น ซิทอัพ วันละหลายร้อยครั้ง เพราะนั้นนอกจากจะไม่ได้ช่วยทำให้ไขมันของท่านในบริเวณดังกล่าวหายไปอย่างมากมายตามจำนวนครั้งที่ท่านทำแล้ว ในทางตรงกันข้าม การหักโหมกับการบริหารร่างกายเฉพาะส่วนนั้น กลับกลายเป็นการสร้างความเครียดให้กล้ามเนื้อมากจนเกินไป ซึ่งส่งผลร้าย มากกว่าผลดี กล่าวคือ กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวจะพัฒนาช้ากว่าปกติ หรือ หนักไปกว่านั้นอาจจะทำให้ฮอร์โมนเครียด (cortisol) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผลเสียตามมาอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การแตกสลายตัวของกล้ามเนื้อ
เมื่อกล้ามเนื้อหาย การเผาผลาญก็ลดน้อยลง ไขมันก็ลดช้าลงนะ เพราะส่วนใหญ่แล้วร่างกายใช้กล้ามเนื้อในการเผาผลาญพลังงานออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ควรจะทำให้พอดี ๆ นะ
อ้างอิงKatch, F.,P. Clarkson, W. Knoll, et al.,1984, Preferential effects of abdominal exercise training on regional adipose cell size, Research Quart Exercise Sport, Vol. 55, p.249Clark, N., 1997, Sport Nutrition Guidebook : Eating to Fuel Your Active Lifestyle, Human Kinetic, USA.
http://stress.about.com/od/stresshealth/a/cortisol.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น